เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน

 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน


1 ตุลาคม พ.ศ. 2549

    เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 หลังการยึดอำนาจของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีและถือเป็นการออกกติกาใหม่ในการปกครองมาใช้เป็นการชั่วคราวแทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ถูกยกเลิกไปตามประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 นี้ แม้จะเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” แต่ก็มีลักษณะคล้ายกับ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” ที่คณะทหารที่ได้ยึดอำนาจเคยประกาศใช้มาแล้วมากกว่า มีจำนวนมาตราเพียง 39 มาตราที่บัญญัติไว้เฉพาะเรื่องที่จำเป็นมากเท่านั้น และเพื่อให้การปกครองดำเนินต่อไปจึงกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ให้มีคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่ก็ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และก็ได้รับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการในการพิพากษาอรรถคดี

ที่เพิ่มมาจากการปกครองทั่ว ๆ ไปก็คือกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ ร่างรัฐธรรมนูญออกมาใช้แทนฉบับชั่วคราวนี้ โดยให้จัดทำให้เสร็จภายในเวลา 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างเสร็จนี้ไปทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนด้วย จึงนับเป็นครั้งแรกที่บัญญัติให้ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปขอประชามติก่อนประกาศใช้ ดังความในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญนี้

“ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาให้แล้วเสร็จตามมาตรา 28 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก

เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งต้องจัดทำไม่เร็วกว่าสิบห้าวัน และไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกาศกำหนด

การออกเสียงประชามติต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”

ข้อดีที่มีการกำหนดเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเวลา 6 เดือน ไว้ในตัวรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้เอง เพื่อเป็นการยืนยันหรือสัญญาว่าตั้งใจให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จได้ในเวลาที่ไม่นานนัก และเป็นการเร่งรัดการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตมีบางครั้งที่การจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างอืดอาดล่าช้า บางคราวนานเกือบ 10 ปี

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาใช้แทนฉบับชั่วคราวนี้จึงร่างเสร็จและนำออกขอประชามติจากประชาชนได้ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นี้ที่ผ่านและได้รับประชามติเรียบร้อยได้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จึงเป็นวันสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ด้วยนั่นเอง


1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529

    เป็นวันที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้เสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา

เดือนพฤษภาคมนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองไทยในอดีตที่จะนำมาเล่าขาน เรื่องในอดีตเมื่อผ่านไปแล้วก็อาจลืมกันไป ฟื้นความหลังมาคุยนั้นดี คุยพลาดไปผู้รู้รายอื่นจะได้มาเติมมาแก้ให้ความจริงปรากฏ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 นั้นเป็นวันกรรมกรที่รัฐบาลได้กำหนดกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในทางการเมือง วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เป็นมากกว่าวันกรรมกรประจำปี เพราะเป็นวันที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ท่านนี้ใช้การยุบสภาแก้ปัญหาการเมืองมากกว่านายกฯ คนอื่น ๆ ของประเทศ สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของท่าน

ตอนนั้นรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมของพรรคการเมืองสำคัญคือพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526

ก่อนหน้านี้รัฐบาลที่มีนายพลเอกคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยเจอกับการกบฏที่เรียกว่า “กบฏ 19 กันยา” หรือ “กบฏไม่มาตามนัด” มาแล้ว ในปี พ.ศ. 2528 ส่วนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลที่สำคัญคือ พรรคชาติไทย

เรื่องของเรื่องก็คือ ตอนที่ปิดสมัยประชุมรัฐสภา รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดมาทั้งสิ้น 9 ฉบับ เป็นพระราชกำหนดเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจ เมื่อเปิดประชุมสภาครั้งแรกรัฐบาลก็ต้องนำ พระราชกำหนดดังกล่าวมาขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็คงไม่คาดคิดว่าจะเจอปัญหา ที่จริงในช่วงเวลานั้นมีความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่พอสมควร เพราะหลังการกบฏ 19 กันยายน พ.ศ. 2528 มาแล้ว ทางคณะทหารกลุ่มหลักที่เคยหนุนรัฐบาลก็ดูจะแยกทางกัน เขาจึงกล่าวกันว่าทหารกลุ่มหนึ่งได้ร่วมมือกับนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อจะล้มรัฐบาล โดยจะเป็นการล้มรัฐบาลตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญเสียด้วย นั่นคือเสียงข้างมากในรัฐสภากลับมาเล่นงานรัฐบาล ถึงขนาดลือกันว่าวางตัวนายกรัฐมนตรีสำรองไว้แล้ว อ้างกันว่าเป็นนักการเมืองชื่อดังไม่ใช่นายทหารใหญ่

ปรากฏว่าในวันนั้นในสภาผู้แทนราษฎร จากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดทั้งหลายที่ทางรัฐบาลเตรียมมานำเสนอสภานั้น สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติเฉพาะร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2528 เท่านั้น พอถึงร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับต่อมาที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ทางสภาผู้แทนราษฎรก็แสดงอำนาจสภาไม่อนุมัติด้วยเสียง 147 ต่อ 143เขาเล่ากันว่าออกเสียงกันถึงขนาดต้องเรียกชื่อลงคะแนนกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ยังมีร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดอีก 7 ฉบับ ที่สภาจะต้องพิจารณา ดูความเป็นไปทางการเมืองในตอนนั้น น่าจะไม่ผ่านอีกหลายฉบับ

ดังนั้น หลังจากแพ้เสียงในสภาประมาณ 6 ชั่วโมง ตอนดึกของคืนวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 นายกรัฐมนตรีจึงเสนอยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยมีคำอธิบายดังนี้

“จากการวิเคราะห์สาเหตุแห่งการไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรมิได้คำนึงถึงเหตุผลในการตราพระราชกำหนด หากสืบเนื่องมาจากความแตกแยกในพรรคการเมืองบางพรรค หากให้สภาชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและจะกระทบถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และจะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ขึ้นมาใหม่...”ทั้งนี้จากการยุบสภาครั้งนี้ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มิได้ลงเลือกตั้งด้วยนั้น พรรคการเมืองสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ร่วมกันเสนอชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลผสมอีกครั้ง


1 มีนาคม พ.ศ. 2534 

    เป็นวันประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2434 เป็นกติกาการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราวของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า “ร.ส.ช.” ซึ่งมี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ ร.ส.ช. ได้ใช้กำลัง เข้ายึดอำนาจ จับกุมตัวนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขณะอยู่ในเครื่องบินจะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อยึดอำนาจแล้ว ร.ส.ช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่ทางฝ่ายคณะผู้ยึดอำนาจไปจัดหามา ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้มีเนื้อหารวม 33 มาตรา และมาตราที่ให้อำนาจประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยหรือนายกรัฐมนตรีมากในการสั่งการที่เด็ดขาดเช่นเดียวกับมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คือมาตรา 27

ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ประกอบด้วยสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 คน และไม่เกิน 300 คน และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญด้วย แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้ ต่อมาได้มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รับผิดชอบจัดตั้งรัฐบาล

ร.ส.ช. ได้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 เป็นกติกาปกครองประเทศมาจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาเป็นกติกาปกครองบ้านเมืองฉบับใหม่ ในเวลาต่อมารัฐบาลจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญในตอนต้นปี พ.ศ. 2535


10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 

    เป็นวันที่มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 โดยออกประกาศมาในตอนค่ำของวัน และในวันเดียวกันนี้ในตอนบ่ายรัฐสภาได้มีการลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 4 ประเด็นไปก่อนหน้านั้นแล้วคือ

ประเด็นที่ 1 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ประเด็นที่ 2 ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประเด็นที่ 3 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ประเด็นที่ 4 แก้ไขสมัยการประชุม โดยการประชุมสมัยที่ 2 ให้สามารถพิจารณาญัตติต่าง ๆ ได้

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ก็เนื่องมาจาก พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมาเพียง 48 วัน ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของผู้คน ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สถานการณ์ทางการเมืองหลังการลาออกของ พลเอก สุจินดา คราประยูร ก็คือ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องนำชื่อผู้เหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ มีทางเลือกอยู่ 2 ทางจากสภาผู้แทนราษฎร คือ ทางแรก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายค้านและประชาชน แต่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ ไม่ถึงครึ่ง กับอีกทางหนึ่ง พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคชาติไทยที่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ เกินกว่าครึ่ง แต่ผู้คนเห็นว่าเป็นผู้สนับสนุนคณะ รสช. มาตลอดอาจได้รับการประท้วงจากประชาชน และสิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เลือกเสนอ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เล่นการเมืองให้เข้ามาแก้ปัญหาการเมืองโดยการยุบสภา ให้ประชาชนตัดสินกันใหม่ นายอานันท์ ปันยารชุน ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมิได้สังกัดพรรคการเมืองจึงได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใคร ๆ ก็แน่ใจว่าต้องเป็นอยู่ในตำแหน่งเพียง “ชั่วคราว” เท่านั้น

เมื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลเรียบร้อยก็ได้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา (ประเด็นที่ 2) เรื่องไม่ให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (ประเด็นที่ 3) และเรื่องแก้ไขสมัยการประชุมสภา (ประเด็นที่ 4) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประเด็นที่ 1) นั้น ได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายหลัง และได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535 โดยให้มีผลในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งทำให้ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งที่อยู่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 จนได้ผลการเลือกตั้ง และได้ตัวนายกรัฐมนตรีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติแล้ว และได้รับการแต่งตั้งคือ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง


11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 

    เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ของประเทศไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ยกร่างขึ้นโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีการประกาศใช้นั้นอยู่ในสมัยของรัฐบาลที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายวัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา เป็นประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีกระบวนการจัดทำที่ให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากแต่ละจังหวัดเข้ามาด้วย และในขณะดำเนินการยกร่างก็ได้ออกไปฟังความคิดเห็นของประชาชนมากกว่าที่เคยมีมาก่อน จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเลยทีเดียว

ที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้มาจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองหลังจากที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่มีคนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะทหารที่ยึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อดีที่สำคัญคือการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตายตัวเอาไว้ ส่วนข้อด้อยทั้งหลายก็ได้มีการแก้ไขไปอย่างมากแล้วใน พ.ศ. 2535 และผู้คนมองกันว่าเมื่อกันทหารออกไปจากการเมืองแล้วให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจเต็มที่ นักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้การเมืองดีขึ้น ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2538 พรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ชูนโยบายปฏิรูปการเมืองที่ต้องทำให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยไม่ให้นักการเมืองเป็นผู้ร่าง เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคชาติไทยชนะ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปจึงเริ่มขึ้นโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้นให้สามารถมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาและให้รัฐสภามีหน้าที่เพียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเท่านั้น

สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้ ประกอบด้วยตัวแทนจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน รวมเป็น 99 คน เมื่อได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเลือกนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาและเลือกนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง สภาร่างได้ดำเนินการยกร่างเสร็จเรียบร้อย เสนอต่อรัฐสภาผ่านออกมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยมีประชาชนชื่นชมและสนับสนุน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ฉบับนี้มิได้เปลี่ยนโครงสร้างของรูปแบบรัฐบาล คือ ยังเป็นระบบรัฐสภา และมี 2 สภาได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญนี้มีเป้าหมายที่จะเอื้อให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งและพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้นด้วย จึงกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ย้ายพรรคการเมืองได้ยากมาก และกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองทั้งหมดถึง 100 คน โดยพรรคใหญ่จะได้เปรียบเพราะกำหนดคะแนนขั้นต่ำของพรรคการเมืองที่จะได้ผู้แทนราษฎรประเภทนี้จากคะแนนรวมของพรรคทั้งประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง

สาระสำคัญอีก 2 ประการในรัฐธรรมนูญก็คือ หนึ่งการบัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนมีความเข้มแข็งมากเช่นกันเพื่อจะได้ทันกับความเข้มแข็งของรัฐบาล อีกอย่างก็คือการกำหนดให้มีองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับอำนาจนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ จนมีบางคณะเรียกว่าเป็น “อำนาจที่ 4” ขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลและองค์กรอำนาจอื่น ๆ ได้ เพราะทราบกันดีว่าในระบบรัฐสภานั้นสภาจะตรวจสอบรัฐบาลได้ไม่มากนัก

องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งการมีองค์กรอิสระเหล่านี้นับว่าได้เป็นของใหม่ในวงการเมืองไทย และดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนโดยทั่วไป แต่ฝ่ายการเมืองนั้นดูจะไม่ชอบใจนัก กระนั้นก็ยังยอมรับการเปลี่ยนแปลง

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ชนะได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งและใกล้เคียงกับจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนฯ จึงได้จัดตั้งรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้ต่อมารวมแล้วประมาณ 9 ปี จนถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 คณะทหารก็ได้ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้


11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 

    พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศ ที่มาของการได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั้นต้องย้อนไปถึงการยึดอำนาจล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากรัฐสภาของคณะปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปนั้นมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ และมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นเลขาธิการคณะยึดอำนาจ พ.ศ. 2519 และไปขอนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี จนมีความขัดแย้งกันเองของรัฐบาลกับคณะทหารที่เป็นผู้อุปถัมภ์ คณะทหารก็ได้ยึดอำนาจอีกครั้ง ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ล้มทั้งรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519

ยึดอำนาจครั้งที่ 2 นี้คณะทหารที่ยึดอำนาจเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่นายทหารที่เป็นผู้นำในการปฏิวัติรัฐประหารที่เสี่ยงตายทำงานต้องเป็นกันเสียเองบ้างแล้ว ตอนแรกก็มีข่าวว่าหัวหน้าคณะทหารคือ พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง แต่เสียงสนับสนุนในคณะทหารได้ไปที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลขาธิการคณะ ที่เป็นทหารบก และกล่าวกันว่ากลุ่มทหารที่มีบทบาทสำคัญคือ “กลุ่มยังเติร์ก” ของทหารไทยที่เป็นทหารบก และตัวพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เองก็เป็นมือประสาน ที่เหมาะในการจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย

งานสำคัญของนายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คือการเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ผ่านเป็นกฎหมายได้ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2521 การที่นายกรัฐมนตรีผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็มีทั้งเสียงด่าและเสียงชม แต่คนจำนวนมากก็เห็นว่าท่านได้ชื่อเสียงในการเป็นผู้ที่พยายามแก้ไขความขัดแย้งในสังคม

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522โดยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง


13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 

    เป็นวันที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะเมื่อ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 และมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 นั้น ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคชาติไทยที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าได้จำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 92 คน จึงทำให้พรรคชาติไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

พรรคชาติไทยของ นายบรรหาร ศิลปอาชา มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่งก็จริง แต่จำนวนก็ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นพรรคชาติไทยจึงต้องหาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมเป็นรัฐบาล และก็ได้รัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 7 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทยเอง และพรรคอื่นอีก 6 พรรค คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย และพรรคมวลชน โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญ

นายบรรหาร ศิลปอาชา นั้นได้เริ่มชีวิตทางการเมืองโดยเล่นการเมืองท้องถิ่นก่อน และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อมีสมัชชาแห่งชาติก็ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอยู่ในสมัชชาแห่งชาติ จึงเป็นเหตุนำมาสู่วงการเมืองในระดับชาติ ท่านได้เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยมาเป็นเวลานานอยู่พรรคเดียว แต่กระนั้น ก็มิได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคชาติไทย ในการลงสนามเลือกตั้งใน พ.ศ. 2538 นี้ นอกจากนโยบายด้านอื่น ๆ ที่ทางพรรคชาติไทยได้แถลงออกไปเพื่อหาเสียงแล้ว นโยบายหนึ่งที่โดดเด่นก็คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา บอกว่าท่านจะปฏิรูปการเมือง เพราะขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังมีความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แม้ว่าจะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกใจประชาชนไปแล้วในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็นก็ตาม

ดังนั้น เมื่อ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปทางการเมืองที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา สนับสนุนให้ดำเนินการได้ก็คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 จนทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แล้วเสร็จออกมาประกาศใช้ใน พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากฉบับหนึ่ง แต่วันที่ประกาศใช้นั้นก็มิได้เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เพราะนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ต้องเผชิญปัญหาทางการเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และท่านได้เสนอให้ยุบสภาในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ปรากฏว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ พรรคการเมืองที่ชนะได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคความหวังใหม่ จึงได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา จึงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 แต่ยังเล่นการเมืองตลอดมาโดยเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย และลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่จนกระทั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองในฐานะกรรมการบริหารพรรค กระนั้น ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการต่อมา


13 กันยายน พ.ศ. 2535 

    เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 18 ของประเทศไทยและเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน คือครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 และก็มาครั้งนี้ ในเวลาที่ห่างกันประมาณ 6 เดือนเท่านั้นเอง ที่มีการเลือกตั้งกระชั้นชิดเช่นนี้ ก็เพราะภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 แล้ว พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาล ก็ได้เกิดการประท้วงจากนักการเมือง ประชาชนและนิสิตนักศึกษา จนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 จนในที่สุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลเข้ามาดูแลเหตุการณ์และยุบสภา เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ให้สภาผู้แทนราษฎรที่จะได้ผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามาเลือกรัฐบาล การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังเป็นการแบ่งเขตที่แต่ละเขตมีผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินเขตละ 3 คน จำนวนผู้แทนราษฎรมี 360 คน เท่ากับการเลือกตั้งครั้งก่อน ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งจึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่มาได้ประมาณ 2 ปีกว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีปัญหาเรื่องการปฏิรูปที่ดินเกี่ยวกับ สปก. 4-01 ที่ทำให้มีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538


17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 

    เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 19 ของไทย เป็นการเลือกตั้งที่มาเร็วกว่ากำหนดเพราะมีการเสนอให้ยุบสภาโดยนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ภายหลังผ่านการอภิปรายทั่วไปและการลงมติไว้วางใจเสร็จแล้ว โดยการยุบสภาเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในตอนนั้นเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 6 ครั้ง ที่สำคัญ คือ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น พรรคการเมืองจึงได้ออกแรงทุ่มตัวแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทั้งกำลังเงินและแรงกายในการหาเสียง พรรคการเมืองสำคัญที่แข่งขันกันก็มีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำรัฐบาลอยู่ในเวลานั้นกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก นำโดยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และมีพรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีสำคัญ กับพรรคชาติพัฒนาที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมแข่งขันให้เป็นตัวเลือกที่สำคัญด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแบ่งเขต แต่มีผู้แทนราษฎรในเขตได้ไม่เกิน 3 คน มีจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด 400 คน โดยมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 38,564,836 คน แต่ผู้ที่มาใช้สิทธิออกเสียงจริงเพียง 24,070,744 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 62.42 จังหวัดที่มีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ 4 พรรคสำคัญได้คะแนนตามลำดับ คือ

1. พรรคความหวังใหม่ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 125 คน

2. พรรคประชาธิปัตย์ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 123 คน

3. พรรคชาติพัฒนา ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 52 คน

4. พรรคชาติไทย ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 39 คน

จึงเห็นได้ว่าพรรคชาติไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลอยู่เคยได้เสียงอันดับหนึ่งก็ตกไปเป็นอันดับ 4 พรรคการเมืองที่แข่งขันกันมาติด ๆ คือ พรรคความหวังใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่น่าสังเกตก็คือใน 4 พรรคนี้ทั้ง 3 พรรคล้วนแต่นำด้วยนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี แต่พรรคที่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี กลับได้โอกาสที่จะมีนายกรัฐมนตรี คือ พรรคความหวังใหม่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักนั่นเอง


18 เมษายน พ.ศ. 2526

     เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 13 ของไทย ขณะนั้นใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 แต่ทางนายกรัฐมนตรีต้องการจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนครบกำหนด เพราะถ้าครบกำหนด บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เลือกตั้งในแบบเดิมที่ทำกันมา ก็จะใช้ไม่ได้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 และมีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526

การเลือกตั้งครั้งนี้อาศัยกฎหมายเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยแบ่งเป็นเขตเลือกตั้งจำนวนผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินเขตละ 3 คน จำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งนี้มีอยู่ 324 คน สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เพิ่มจำนวนจากคราวก่อนมาเป็น 24,224,470 คน แต่จำนวนผู้มาออกเสียงทั่วประเทศก็มีเพียง 12,295,339 คน นับได้เป็นอัตราร้อยละ 50.76 คน ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด

ผลการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้ไปลงเลือกตั้งด้วยนั้น ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงมากเกินกว่ากึ่งหนึ่ง จึงต้องตั้งรัฐบาลผสม และพรรคการเมืองก็ตกลงกันเองไม่ได้ จนต้องหันไปพึ่ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลผสมที่มี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นแกนนำรัฐบาล มีพรรคการเมือง 4 พรรคเข้าร่วมได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตย

สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้กับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้อยู่กันมารอดจากความพยายามในการยึดอำนาจของทหารกลุ่มหนึ่ง ในวันที่ 9_กันยายน_พ.ศ._2528 แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถอยู่จนครบวาระเพราะนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 และนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 นั่นเอง


19 กันยายน พ.ศ. 2549 

    เป็นวันที่คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ดังปรากฏในแถลงการณ์ของคณะผู้ยึดอำนาจว่า

“...การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้ม นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมืองไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน...”

การยึดอำนาจในครั้งนี้ทำให้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540” สิ้นสุดลงตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 หลังจากนั้นมาระยะเวลาหนึ่งทางคณะปฏิรูปฯ ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นกติกาในการปกครองประเทศและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 จึงได้ดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน ให้จัดการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเวลา 180 วัน ซึ่งการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็เสร็จได้ภายในระยะเวลากำหนดและได้นำเสนอขอประชามติของประชาชน ซึ่งประชามติของประชาชนในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ก็ได้เห็นชอบ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จนนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งผลการเลือกตั้งถือว่าเป็นการตัดสินใจของประชาชน และนำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ของพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองในการเลือกตั้งผู้ปกครองแล้ว และมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบก็หาได้ลดลงไม่ และแม้ต่อมาจะมีนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร สุนทรเวช อีก 2 คน ความขัดแย้งในสังคมก็มิได้ลดลง หากแต่ได้ทวีความรุนแรง เกิดการประท้วงใหญ่ มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการใช้ความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก และมีการเผาสถานที่สำคัญเกิดขึ้นด้วยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ถึงแม้ในเวลาต่อมาจะมีการยุบสภา มีการเลือกตั้งทั่วไปอีก ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายในสังคมก็ยังมีอยู่ยังไม่มีทางออกที่ดีที่จะให้ผู้ที่มีความเห็นต่างและขัดแย้งกันตกลงกันได้เลย


19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

    เป็นวันที่นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเสนอให้ยุบสภา รัฐบาลขณะนั้นเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้ารัฐบาลมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหลังเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของนายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดตรัง ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม และพรรคเอกภาพ มีเสียงรวมกัน 207 เสียง จากจำนวนเสียทั้งหมด 360 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลผสมหลายพรรคชุดนี้มีปัญหาในการบริหารประเทศอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเมือง รัฐบาลบริหารบ้านเมืองมาได้ปีกว่าก็ต้องการปรับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลบางพรรคออกและนำพรรคการเมืองนอกรัฐบาลเข้ามาร่วม แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังประคองรัฐบาลของท่านให้อยู่ได้จนข้ามปี พ.ศ. 2537 เข้ามาสู่ปี พ.ศ. 2538

จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 รัฐบาลก็ต้องเจอกับมหกรรมการเมืองประจำปี คือ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะของพรรคฝ่ายค้าน การอภิปรายทั่วไปแบบนี้ที่จริงอาจเป็นเรื่องหนักใจของนักการเมืองที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งหรือนักการเมืองที่แม้จะลงเลือกตั้งแต่พูดไม่เก่งอยู่พอสมควร แต่สำหรับนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ที่ลงเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 และเป็นนัการพูดฝีปากคม จึงน่าจะเป็นเรื่องไม่น่าหนักใจ ทั้งนี้การอภิปรายทั่วไปเพื่อจะล้มรัฐบาลครั้งนี้มีขึ้นในวันที่ 17 และ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

เป้าหมายของการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้อยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีเรื่องการปฏิรูปที่ดินที่มองกันว่าป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้น และการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนคนทั่วไปมักนึกว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ไม่มีที่ทำกิน แต่ตามสิทธิ ผู้ที่เคยทำกินมาก่อนและไม่ใช่ผู้ยากจนก็จะได้เอกสารสิทธิ์นั้นด้วย การอภิปรายซึ่งในที่สุดไปเน้นกันมากเรื่อง“เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01” ที่ฝ่ายค้านได้ยกเอามาเล่นงานพรรคแกนนำของรัฐบาลคือพรรคประชาธิปัตย์

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนี้ เมื่ออภิปรายกันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องรอไปลงมติในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 แต่หลังจากการอภิปรายได้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญจากพรรคการเมืองขนาดกลางที่ร่วมรัฐบาลคือพรรคพลังธรรม ซึ่งมีพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค พรรคการเมืองพรรคนี้มีภาพลักษณ์ที่ดีว่าเป็นพรรคการเมืองสะอาดในสายตาประชาชน พรรคพลังธรรมได้ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในวันเดียวกัน หลังเสร็จการอภิปรายทั่วไปและมติของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ออกมาคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคจะงดออกเสียง ไม่เพียงเท่านี้ รัฐมนตรีของพรรคในรัฐบาลจะลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 อันเป็นวันที่มีการลงมติว่าจะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนั้นด้วย ทั้งนี้ มีการกล่าวกันว่ารัฐมนตรีที่ชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านนั้นชี้แจงได้ไม่ชัดเจน พรรคพลังธรรมนั้นมีเสียงหนุนรัฐบาลอยู่ 47 เสียง การแสดงออกเช่นว่านี้จึงเท่ากับถอนตัวจากรัฐบาลนั่นเอง

ดังนั้นนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย จึงเสนอยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 นั่นเอง โดยอ้างเหตุผลตอนหนึ่งว่า

“...ปรากฏว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรคมีความแตกแยกจนไม่สามารถจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นอีกก็ตามปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวนี้ก็ไม่อาจสิ้นสุดลงได้ อันนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่...” วันเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมาคือวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง จึงไม่ได้เป็นแกนตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าว


19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 

    เป็นวันที่มีการออกเสียงลงประชามติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นการลงมติเพื่อเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ

ที่มาของการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 26 ที่ว่า

ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาให้แล้วเสร็จตาม มาตรา 28 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก”

เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งต้องจัดทำไม่เร็วกว่าสิบห้าวัน และไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกาศกำหนด การออกเสียงประชามติต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

“ผลของการออกเสียงประชามติที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏตามรายงานว่า มีผู้มาใช้สิทธิกว่า 25,987,954 คน คิดเป็นร้อยละ 57.61 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ ในส่วนของผู้มาใช้เสียงประชามตินี้มีผู้เห็นชอบ 14,727,306 คน คิดเป็นร้อยละ 56.69 ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน คิดเป็นร้อยละ 41.37 บัตรเสีย 504,120 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.94 และมีการคืนบัตร 87 ใบ”

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบ ทั้งนี้ ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ความคิดเห็น